NEWS UPDATE

ข่าวและกิจกรรมต่างๆ

สมาคมโฆษณาฯ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ นักวิชาการ วิชาชีพ หาแนวทางขับเคลื่อนการผลิตสื่อโฆษณาบนพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ

สมาคมโฆษณาฯ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ นักวิชาการ วิชาชีพ หาแนวทางขับเคลื่อนการผลิตสื่อโฆษณาบนพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยจัดเวทีข้อเสนอเชิงนโยบาย จรรยาบรรณ การกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณา เพื่อขับเคลื่อนการผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นในการรับนำแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ (ICC Advertising and Marketing Communications Code) มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นเวทีปิดท้าย โครงการการผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี คุณรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มากล่าวต้อนรับ และสรุปการดำเนินงานขับเคลื่อนจรรยาบรรณวิชาชีพ และการกับดูแลตนเองของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และคุณวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาให้เกียรติกล่าวเปิดงานในงานนี้

ในงานเสวนามีผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดทิศทางนโยบายการกับกำกับดูแลตนเองของนักวิชาชีพ ตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ และนักวิชาชีพ เข้าร่วมระดมสมอง ได้แก่ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านสื่อมวลชน และนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการสื่อสาร, คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ดร.นิวัต วงศ์พรหมปรีดา รองนายกสมาคมฯ ฝ่ายมาตรฐานวิชาชีพ, คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), คุณผณินท์สุธา พรวุฒิยานนท์ กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน และรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคม และคุณนิชคุณ ตุวพลางกูร รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย

ผลจากการเสวนา ในส่วนของทิศทางการดำเนินการนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นสอดคล้องกันว่า แนวทางในการขับเคลื่อนความเข้มแข็งในกลไกการกำกับดูแลตนเองด้วยจรรยาบรรณของนักวิชาชีพโฆษณา กระบวนการการกำกับดูแลกันเอง ควรจะก้าวไปสู่การกำกับดูแลร่วม (Co-regulation) ในการกำกับดูแลตนเองในเรื่องจริยธรรมจะต้องมีการระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะกำกับในระดับองค์กรหรือรายบุคคล การปรับใช้ช่วงต้นควรเจาะจงเลือกกลุ่มที่เขามีความสนใจในเรื่องนี้ก่อน ทั้งนี้ต้องมีการทำงานเชิงรุกที่หยิบยกประเด็นที่มีปัญหาขึ้นมาพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องรอการฟ้องร้อง และควรมีการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ในส่วนของ ICC CODE ที่จะมีการนำมาปรับใช้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอว่าควรมีการแบ่งย่อยเพื่อดูในหัวข้อหลัก ๆ ให้เข้าใจง่ายในการนำมาปรับใช้

รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านสื่อมวลชน และนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการสื่อสาร ให้ความเห็นว่า ยุคต่อไปเป็นยุคของดิจิทัล ยุคนี้ self-regulation มันจะต้องเข้มแข็งมาก แต่จุดอ่อนของ self-regulation ก็คือไม่มีอำนาจบังคับ ดังนั้นการกำกับดูแล ถ้าคิดว่ามันอิสระ แต่เราไม่มีอำนาจกำกับ ตรงนี้ผมว่าการกำกับกันเองมันไม่สามารถทดแทนการกำกับโดยรัฐได้ การจะลงโทษเอกชนต้องใช้อำนาจรัฐซึ่งก็เรียกว่าอำนาจปกครอง การดำเนินการแบบการกำกับดูแลร่วม หรือ co-regulation คือการเข้าไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของรัฐแล้วใช้อำนาจของเขา โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ภาครัฐไม่สามารถจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นพวกวิชาชีพจึงเข้ามา ปริมาณมันเยอะ เทคโนโลยีเปลี่ยนแล้วมันเป็นเน็ตเวิร์กที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปไม่ได้ จุดนี้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ในการดำเนินการจะต้องมีองค์กรที่เป็นที่รับรองและมีงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ให้ความเห็นว่า สมาคมโฆษณาควรดำเนินการอย่างน้อย 3 ส่วน ได้แก่ ระบุผู้ที่ถูกกำกับว่าควรจะครอบคลุมในระดับองค์กรที่เป็นสมาชิกของสมาคมโฆษณา และให้แต่ละองค์กรกำกับระดับบุคคลที่ทำงานในองค์กรนั้น ๆ หรือกำกับระดับบุคคลที่เข้ามาทำงาน ควรมีการทำงานเชิงรุก คือ ดำเนินการเฝ้าระวังและดำเนินการกับการโฆษณาที่อาจมีปัญหาทางจริยธรรมได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน ร่วมกับการเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคด้วย และต้องสร้างเครือข่ายเข้ามาร่วมกันทำงาน

ในส่วนของการนำแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ (ICC Advertising and Marketing Communications Code) มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน และรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคม ได้ให้ความเห็นต่อมุมมองของผู้บริโภคที่คาดหวังต่อรูปแบบโฆษณาว่าควรจะเป็นอย่างไร โดยให้ความเห็นว่า โฆษณาที่จำเป็นต้องถูกต้องเหมาะสมตามจรรยาบรรณ และ ICC CODE เข้ามาช่วยได้ โดยที่อาจจะต้องเริ่มนำมาใช้ทีละส่วน เนื่องจากมีรายละเอียดมาก ในด้านของการสนับสนุนให้ผู้ทำ Content โฆษณา คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาอาจจะยังอยู่ที่เราไปบังคับทุกคนทั้งระบบไม่ได้ การดำเนินการควรเริ่มจากส่วนที่ทำได้ แล้วค่อย ๆ ขยายออกไป แล้วส่งเสริมให้เห็นว่าควรเข้ามาร่วมกันต่อไป เช่นเดียวกับ คุณผณินท์สุธา พรวุฒิยานนท์ กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการต้องปรับความเข้าใจของทุกฝ่ายให้มาร่วมกันทั้ง ผู้ประกอบการหรือแบรนด์ Influencer และ ภาครัฐ

สำหรับแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ (ICC Advertising and Marketing Communications Code) ทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการในการแปลเป็นฉบับภาษาไทยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าสามารถนำมาประกาศใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทยเร็ว ๆนี้

 

วัน : 02 Nov 2020

Share This:

Recent Events