สมาคมโฆษณาฯ ภายใต้ นายกสมาคมฯ หญิงคนแรก

คุณพรศิริ โรจน์เมธา นายกสมาคมฯ ที่เป็นผู้หญิงท่านแรกที่เข้ามารับในตำแหน่งนี้ พร้อมกับคณะกรรมการบริหาร ในวาระปี พ.ศ. 2541 - 2543 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการบริหารชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อุตสาหกรรมโฆษณาไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักอื้งพร้อม ๆ กับจุดเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโฆษณาไทยที่เผชิญกับภาวะถดถอย ในยุคนี้เองจำนวนบริษัทโฆษณาที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมากหลายแห่งต้องปิดตัวไปเพราะประสบภาวะขาดทุน หลายแห่งประสบภาวะทางการเงินอย่างแสนสาหัสจึงไม่ได้ต่ออายุสมาชิกสมาคมฯ ทำให้สมาคมโฆษณาฯ มีสมาชิกที่เป็นบริษัทโฆษณาเหลืออยู่ไม่ถึง 60 บริษัท จากที่เคยมีมากกว่า 100 บริษัทในอดีตสมาคมฯ ในยุคของนายกหญิงจึงต้องเริ่มต้นด้วยความยากลำบากในการบริหารสมาคมฯ ในภาวะที่รายรับจากค่าสมาชิกลดน้อยถอยลงอย่างมากในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสมาคมฯ ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

บริษัทโฆษณาส่วนใหญ่ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มีการปรับโครงสร้างขององค์กร บ้างก็ยุบ แผนกบางแผนก เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ บ้างก็แยกแผนกบางแผนกออกไปเป็นบริษัทเล็ก ๆ อิสระเพื่อสามารถรับงานจากลูกค้า ได้กว้างขวางมากขึ้น หลายเอเยนซี่ก็ใช้วิธีหาผู้ร่วมทุนต่างชาติเพื่อเข้ามา สนับสนุนทางการเงิน

ไม่เพียงเท่านั้น ปรากฎการณ์ใหม่สำหรับวงการโฆษณาไทยคือการเปิดบริการของมีเดียอิสระ… ซึ่งมีกระแสมาตั้งแต่ก่อนฟองสบู่แตกแต่อาจดูไม่ชัดเจนนักก็มาเริ่มแรงและเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่โหมกระหน่ำเข้ามาทำให้ลูกค้าบริษัทโฆษณาต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด ลูกค้าบริษัทโฆษณาบางส่วนได้ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าบีบคั้นให้บริษัทโฆษณาต้องแข่งขันกันลดค่าบริการลง (Agency Fee) จนในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า แทบจะหาเอเยนซี่ที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 17.65% ได้ยากเต็มทีแล้ว

ภายใต้การดำเนินการของสมาคมฯ โดยนายกพรศิริได้พยายามที่จะจัดระเบียบของค่าบริการโฆษณา และส่วนลดจากสื่อให้มีมาตรฐานที่ชัดเจนมากขึ้น โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายสื่อขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คอยดูแลพูดคุยทั้งเจ้าของสื่อ และ สมาชิกโดยเฉพาะเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เพราะการคิดค่าตอบแทนที่เหมาะสม หมายถึงความอยู่รอดของเอเยนซี่เองคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ช่วยกันวางกรอบของการคิดค่าตอบแทนให้เป็นธรรมทั้งฝ่ายลูกค้าผู้ลงโฆษณา และ ฝ่ายเอเยนซี่ด้วยกันเอง ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากทุกฝ่ายต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของตนเองมากกว่าที่จะเห็นใจหรือสนใจต่อความอยู่รอดของอีกฝ่าย

งานที่ถือได้ว่าเป็นงานหลัก และงานที่หนักที่สุดของสมาคมโฆษณาฯ ภายใต้คณะกรรมการบริหารชุดนี้ได้แก่ การดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดงาน AdAsia‘99 ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชียภายใต้แนวคิด “InnovAsia“ โดยมีวิทยากรเข้าร่วมงานแสดงวิสัยทัศน์และแนวคิดใหม่ ๆ ในวงการโฆษณาระดับโลกจำนวนมากซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้ช่วงเวลาที่จัดงานดังกล่าวจะยังอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในภูมิภาคยังอยู่ในภาวะที่ทรงตัวอยู่ก็ตาม

งาน AdAsia‘99 นี้ ได้จัดขึ้นที่ Pattaya Exhibition and Convention Hall (PEACH) ภายในบริเวณ โรงแรม รอยัลคลิฟ พัทยา ได้นำมาซึ่งความสำเร็จแก่สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยอย่างสูง เพราะนอกจากจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียจำนวนมากถึงเก้าร้อยกว่าท่านแล้วนักโฆษณาไทยยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักโฆษณาระดับโลกและยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวของไทยและนำรายได้สู่ประเทศทางอ้อมอีกด้วย

ความสำเร็จอีกประการหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งต่อความอยู่รอด ของสมาคมโฆษณาฯ ก็คือ การจัดงาน AdAsia‘99 นี้ ทำให้สมาคมฯ มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้สถานะทางการเงิน ของสมาคมฯ กลับมา เข้มแข็งได้อีกครั้ง แม้ภาวะทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมโฆษณายังทรงตัวอยู่ก็ตาม

นับเป็นบทพิสูจน์ของ นายกสมาคมฯ หญิงคนแรกที่ชื่อ พรศิริ โรจน์เมธา และทีมงานคณะกรรมการบริหารในยุคของนายกหญิงได้เป็นอย่างดี

Share This Post: